องค์การบริหารส่วนตำบลละหานปลาค้าว อำเภอเมืองยาง จังหวัดนครราชสีมา : www.lahanplakao.go.th

 
 
 


ข่าวประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า


หากถูกสุนัข แมวกัด ข่วน หรือเลียบาดแผล แม้เพียงเล็กน้อย อย่าชะล่าใจ ควรรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันทีหลายๆครั้ง นานประมาณ 10 นาที และใส่ยาเบตาดีน เพื่อลดการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จากนั้นรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อวินิจฉัยและรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หากฉีดวัคซีนแล้วควรไปตามนัดทุกครั้ง นอกจากนี้ ควรสังเกตสุนัขว่ามีอาการผิดปกติหรือตายใน 10 วันหรือไม่ ภายหลังสุนัขตัวนั้นไปกัดข่วนคน ต้องรีบไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และขอให้ยึดหลัก “คาถา 5 ย.” เพื่อลดความเสี่ยงการรับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ดังนี้

1.อย่าแหย่ ให้สัตว์โมโหเพราะอาจโดนข่วนหรือกัดได้

2.อย่าเหยียบ บริเวณลำตัว ขา หรือหางของสัตว์

3.อย่าแยก สัตว์ที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า

4.อย่าหยิบ จานข้าวหรืออาหารขณะสัตว์กำลังกิน และ

5.อย่ายุ่ง กับสัตว์ที่ไม่รู้จักคุ้นเคย เพื่อลดความเสี่ยงการรับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า”

คนติดโรคพิษสุนัขบ้าจากสัตว์ชนิดใดบ้าง

 

โรคพิษสุนัขบ้าติดต่อโดยการสัมผัสกับน้ำลายจากการถูกกัด ข่วนหรือเลียบริเวณที่มีบาดแผลรอยถลอกหรือรอยขีดข่วนบาดแผล หรือเลียถูกบริเวณเยื่อบุตา หรือปากเป็นต้น นอกจากนี้การชำแหละซากสัตว์หรือรับประทานผลิตภัณฑ์ดิบจากสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าก็สามารถติดโรคได้

 

โรคพิษสุนัขบ้าพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น สุนัข แมว ค้างคาว วัว ลิง ชะนี กระรอก กระต่าย รวมถึงหนูเป็นต้น แต่พบว่าสุนัขและแมวเป็นสัตว์ที่นำโรคพิษสุนัขบ้ามาสู่คนได้บ่อยที่สุดในประเทศแถบเอเชียและแอฟริกา แม้ว่ารายงานจากสำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ในประเทศไทยในปี พศ. 2556 พบว่าสัตว์ที่ตรวจยืนยันพบเชื้อพิษสุนัขบ้าส่วนใหญ่ไม่เคยได้ฉีดหรือไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แต่ร้อยละ 9.2 ของสัตว์ที่ยืนยันเป็นโรคพิษสุนัขบ้ามีประวัติการได้รับเคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน

อาการของโรคพิษสุนัขบ้าในคนเป็นอย่างไร

หลังได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าผู้ป่วยจะแสดงอาการป่วยโดยเฉลี่ยประมาณ3 สัปดาห์- 3 เดือนในบางรายอาจใช้เวลานานหลายปีกว่าจะมีอาการก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับตำแหน่งที่ถูกกัด ขนาด จำนวนและความลึกของบาดแผลรวมถึงภูมิต้านทานของคนที่ถูกสัตว์กัด
ผู้ป่วยจะมีอาการของโรคพิษสุนัขบ้าเป็น 3 ระยะ ดังนี้

  1. ระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยจะมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น ไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัว หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน กระวนกระวายนอนไม่หลับ ในบางรายอาจมีอาการ เจ็บ เสียวแปล๊บคล้ายเข็มทิ่ม หรือคันอย่างมากบริเวณที่ถูกกัด ซึ่งเป็นลักษณะที่จำเพาะของโรคระยะนี้มีเวลาประมาณ 2-10 วัน
  2. ระยะที่มีอาการทางสมอง ผู้ป่วยจะมีอาการสับสน วุ่นวาย กระสับกระส่าย อยู่ไม่นิ่ง กลืนลำบาก รวมถึงกลัวน้ำ อาการจะเป็นมากขึ้นหากมีเสียงดัง หรือถูกสัมผัสเนื้อตัว จากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการชักและเป็นอัมพาต ระยะนี้มีอาการประมาณ 2-7 วัน
  3. ระยะท้าย ผู้ป่วยอาจมีภาวะหายใจล้มเหลว หัวใจหยุดเต้น โคม่า และเสียชีวิตในเวลาอันสั้น

ควรปฏิบัติอย่างไรเมื่อถูกสัตว์กัด

  1. รีบล้างแผลให้เร็วที่สุดด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆครั้งนานอย่างน้อย 15 นาที ล้างทุกแผล และล้างให้ลึกถึงก้นแผล แล้วเช็ดแผลให้แห้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีน เป็นต้น บริเวณแผล
  2. จดจำลักษณะและสังเกตอาการสัตว์ที่กัด รวมทั้งสืบหาเจ้าของ เพื่อสอบถามประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า และสังเกตอาการสัตว์ที่กัดเป็นเวลา 10 วัน ถ้าสัตว์ไม่มีอาการผิดปกติอาจไม่ใช่โรคพิษสุนัขบ้า แต่ถ้าสุนัขตายให้นําซากมาตรวจ
  3. ไปพบแพทย์ทันทีพร้อมนำสมุดวัคซีนหรือประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและบาดทะยักไปด้วย เพื่อรับการป้องกันรักษาที่ถูกต้อง ถ้ามีความเสี่ยงต่อโรคพิษสุนัขบ้า อาทิเช่น ถูกกัดหรือข่วน แพทย์จะพิจารณาฉีดวัควัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงวัคซีนป้องกันบาดทะยัก และยาฆ่าเชื้อ นอกจากนี้ในกรณีที่มีโอกาสติดโรคพิษสุนัขบ้าสูง แพทย์อาจพิจารณาให้อิมมูโนโกลบุลินซึ่งมีภูมิต้านทานโรคพิษสุนัขบ้าร่วมด้วย โดยวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจะฉีดประมาณ 3-5ครั้ง เป็นวัคซีนมีความปลอดภัยสูงสามารถฉีดได้ทุกวัย รวมทั้งในเด็กและสตรีมีครรภ์ วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามีประสิทธิภาพสูงหากไปรับการฉีดตรงตามแพทย์นัดทุกครั้ง

จะป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้อย่างไร
เนื่องจากโรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่ไม่มียาที่ใช้ในการรักษา และถ้าติดเชื้อจะเสียชีวิตเกือบทุกราย ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยมีแนวทางในการป้องกันดังนี้

  1. ควบคุมไม่ให้สัตว์เป็นโรคพิษสุนัขบ้า
    - พาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าตามกำหนด และฉีดซ้ำทุกปี
    - ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงไปในที่สาธารณะ ทุกครั้งที่จะนำสุนัขออกนอกบ้านควรอยู่ในสายจูง
    - ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยง
  2. หลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกสัตว์กัดโดยไม่แหย่ หรือรังแกให้สัตว์โมโห รวมทั้งไม่ยุ่งหรือเข้าใกล้สัตว์ที่ไม่รู้จักหรือไม่มีเจ้าของ
  3. ถ้าถูกสัตว์กัดแล้ว ควรปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้น
  4. พิจารณาการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้าในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยงในการสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า ได้แก่ สัตวแพทย์ ผู้ที่มีอาชีพเลี้ยงและขายสัตว์ เป็นต้น ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่มีการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งอาจทำให้การเข้าถึงวัคซีน การตรวจทางน้ำเหลือง รวมถึงการมารับวัคซีนกระตุ้นตามนัดทำได้ยากลำบาก หรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีแหล่งรังโรคของโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ป่า รวมถึงเด็กที่เลี้ยงสุนัขและแมว เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้าโดยฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 7 วันและเมื่อถูกสัตว์กัดจะต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำอีก 1-2 ครั้ง โดยไม่จำเป็นต้องฉีดอิมมูโนโกลบุลินซึ่งอาจเกิดปฏิกิริยาแพ้ และเจ็บปวดเวลาฉีดรอบแผลร่วมด้วย




2024-10-23
2024-10-13
2024-09-28
2024-09-16
2024-07-28
2024-07-26
2024-07-10
2024-06-07
2024-06-03
2024-05-07