โครงการควบคุมโรคหนอนพยาธิสำหรับการดำเนินงานตามแนวทางโครงการพระราชดำริด้านสาธารณสุข ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วันที่ 22 กันยายน 2566 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลละหานปลาค้าว
หลักการและเหตุผล
โรคหนอนพยาธิเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของไทย ซึ่งเป็นปัญหาต่อสุขภาพในวัยที่กำลังเจริญเติบโตทั้งทางร่างกายและสติปัญญา สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย การมีฐานะยากจน อนามัยสิ่งแวดล้อมในชุมชนไม่ดี รวมทั้งพฤติกรรมสุขภาพและการรับประทานอาหารของประชาชนยังไม่เหมาะสมและถูกสุขลักษณะ ประกอบกับสภาพพื้นที่ในตำบลละหานปลาค้าว อยู่ใกล้ลำสะแทด วิถีการดำรงชีพของประชาชนส่วนใหญ่จะหาปลา เพื่อนำไปประกอบอาหาร ในครัวเรือน บางคนมีพฤติกรรมที่รับประทานอาหารแบบสุกๆดิบๆ อาจจะมีไข่พยาธิเจือปน และขาดความรู้เรื่องโรคหนอนพยาธิ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคพยาธิตามมา หากเป็นมากจนเรื้อรังมีโอกาสเป็นมะเร็งและเสียชีวิตได้ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ได้เสนอรูปแบบการแก้ปัญหาด้วยการสร้างต้นแบบควบคุมป้องกันโรคหนอนพยาธิ โดยพัฒนาเป็นภาคีเครือข่ายด้านโรคหนอนพยาธิ ให้ภาครัฐ ชุมชน หมู่บ้านและโรงเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
อำนาจหน้าที่ตามแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ กำหนดให้ อบต. มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเองตามมาตรา ๑๖ ข้อ ๑๙ การสาธารณสุข การอนามัยครอบครัว และการรักษาพยาบาล องค์การบริหารส่วนตำบลละหานปลาค้าว จึงได้จัดทำโครงการควบคุมโรคหนอนพยาธิ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ขึ้นเพื่อดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคหนอนพยาธิในพื้นที่ตำบลละหานปลาค้าวและสามารถแก้ไขปัญหาโรคหนอนพยาธิในพื้นที่ได้ จึงจำเป็นต้องดำเนินการแก้ปัญหาโรคหนอนพยาธิในพื้นที่ทุกๆปี เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักในการป้องกันโรคหนอนพยาธิเองในชุมชน
วัตถุประสงค์
1. เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับให้ความรู้เรื่องโรคหนอนพยาธิแก่ผู้นำสุขภาพชุมชน/แกนนำสุขภาพ/ อาสาสมัคร
สาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และประชาชนทั่วไป
2. เพื่อควบคุมการติดโรคหนอนพยาธิในประชาชนและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคที่ปลอดภัย
ไม่เสี่ยงต่อโรคหนอนพยาธิ
3. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีความรู้ในการใช้ยาถ่ายพยาธิอย่างถูกต้อง
เป้าหมายของโครงการ
1. ประชาชนตำบลละหานปลาค้าว หมู่ที่ 1,หมู่ที่ 2 ,หมู่ที่ 5, หมู่ที่ 7 ,หมู่ที่ 8 ,หมู่ที่ 9,หมู่ที่ 10 และ หมู่ที่ 12
2. เจ้าหน้าที่ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่
3. ประธานในพิธีเปิด – ปิด แขกผู้มีเกียรติ และผู้ติดตาม
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1.ผู้ที่เข้ารับการอบรมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคหนอนพยาธิ
2.ผู้ที่เข้ารับการอบรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคที่ปลอดภัยไม่เสี่ยงต่อโรคหนอนพยาธิ
3.ผู้ที่เข้ารับการอบรมมีความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาถ่ายพยาธิอย่างถูกต้อง และถ่ายพยาธิอย่างน้อย 1 ครั้ง
ต่อปี
|